รู้จัก ท้องนอกมดลูก ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย

918

ท้องนอกมดลูก หรือ การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) คือ ภาวะแทรกซ้อนทางการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย เป็นความผิดปกติของการฝังตัวของตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ซึ่งตามธรรมชาติควรจะไปฝังตัวในโพรงมดลูกแล้วเจริญเติบโตเป็นทารกจนคลอดอกมา แต่กลับไปฝังตัวและเจริญเติบโตในบริเวณอื่น เช่น ปากมดลูก รังไข่ ช่องท้อง แต่ที่พบบ่อยที่สุดประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นการไปฝังตัวที่ปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ ท่อนำไข่เป็นท่อขนาดเล็ก มีทางผ่านของไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจากรังไข่ เข้าสู่มดลูก ถึงแม้ไข่จะไปฝั่งตัวผิดที่ผิดทางแต่การเจริญเติบโตก็ยังดำเนินต่อไป เมื่อตัวอ่อนใหญ่กว่าท่อนำไข่ก็จะทำให้ท่อแตก เกิดตกเลือดภายในก็จะเป็นอันตรายต่อมารดา แพทย์จำเป็นต้องนำตัวอ่อนออกมา

หญิงที่ตั้งครรภ์ท้องนอกมดลูกก็จะมีอาการคล้ายหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย แต่หลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 7 สัปดาห์จะมีอาการบ่งบอกถึงการท้องนอกมดลูก คือ มีอาการปวดท้องน้อยมักปวดเด่นด้านด้านหนึ่งของท้องน้อย ซึ่งเป็นด้านที่เกิดการท้องนอมดลูกนั้นเอง การปวดท้องมากร้าวไปถึงด้านหลังหรือหัวไหล่ ซึ่งอาการปวดร้าวไปที่หัวไหลบ่งบอกได้ว่ามีภาวะตกเลือดในช่องท้อง และเมื่อมีภาวะตกเลือดในช่องท้อง ก็จะทำให้ชพีเจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อาจช็อกได้ มีเลือดออกกระปริกระปรอย เจ็บหน้าอก อย่างไรก็ตามการตรวจอาการท้องนอกมดลูกก็ไม่ใช่จะวินิจฉัยกันได้ง่ายนัก หญิงที่ท้องนอกมดลูกอาจมีอาการน้อยมากหรืออาจมีบางอาการ ทำให้แพทย์วินิจฉัยไปเป็นโรคอื่นๆได้คะ

ปัจจัยเสี่ยงของการท้องนอกมดลูกที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้ออุ้งเชิงกราน จะทำให้เกิดพังผืดที่บริเวณปีกมดลูกและรังไข่ ทำให้ท่อนำไข่คดงอหรือตีบตัน
  • การผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะการผ่าตัดที่บริเวณท่อนำไข่ เช่น การผ่าต่อหมัน ทำให้เกิดผังผืดหรือท่อนำไข่ตีบตันบางส่วน
  • บุคคลที่เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำมากกว่าคนปกติ 7-13 เท่า
  • การกินยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งฮอร์โมนจะทำให้การบีบตัวของท่อนำไข่ช้าลง ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้าลง
  • การใส่ห่วงอนามัย (Intrauterine device-IUD) สามารถป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้แต่ไม่สามารถป้องกันการฝังตัวที่ปีกมดลูกได้
  • การทำกิฟท์ (GIFT: Gamete intrafallopian tube transfer) และการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อื่นๆ
  • การตั้งครรภ์เมื่ออายุเยอะ จะมีอัตราความเสี่ยงกับการท้องนอกมดลูกมากกว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย
  • การสูบบุหรี่ สารพิษจากบุหรี่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของปีกมดลูกและการโบกพัดของขนเล็กๆในท่อนำไข่
  • การทำหมัน การทำหมันไม่ได้การันตีได้ว่าจะไม่ท้อง แต่มีโอกาสเกิดได้ประมาณ 3 ใน 1,000 คนที่ทำหมัน และหากเกิดการตั้งครรภ์หลังทำหมัน มักเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก

การรักษาเมื่อเกิดท้องนอกมดลูก

โดยปกติสามารถรักษาการเกิดท้องนอกมดลูกได้สองวิธี คือ การผ่าตัดและ การใช้ยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Methotrexate (MTX) ให้โดยการฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ เพื่อให้ตัวอ่อนฟ่อและสลายไปเอง วิธีนี้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาวินิจฉัยว่าจะให้ยาหรือจะผ่าตัดเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้การใช้ยาล้มเหลว เช่น ระดับค่า B hCG ที่สูงเกิน 5,000 mIU/mL หรือ ขนาดของถุงการตั้งครรภ์ใหญ่กว่า 3.5 เซนติเมตร เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกก็จะสร้างความวิตกกังวลว่าจะสามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้หรือไม่ ถึงจะเคยตั้งครรภ์นอกมดลูกก็ยังจะสามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้คะ หากยังมีท่อนำไข่เหลือข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ แต่อัตราการเกิดการท้องนอกมดลูกซ้ำก็มีประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าอีก 70 เปอร์เซ็นต์จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ถึงครบกำหนดคลอด ดังนั้นเราควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น หากประจำเดือนขาดต้องรีบตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ และพบแพทย์ตรวจว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ปกติหรือไม่นะคะ

การตั้งครรภ์เป็นความปราถนาของผู้ที่แต่งงานหรือผู้ที่มีครอบครัวต้องการมีทายาทไว้สืบสกุล แต่สำหรับบางคู่การตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อยากมีบุตรนะคะ ทำจิตใจให้เบิกบาน อย่าวิตกกังวล รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย งดเหล้างดบุหรี่ และหากมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธุ์ควรพบแพทย์และรักษาให้หายขาดจะดีที่สุดคะ