กินอาหารไม่สะอาดอาจเป็น..ไข้ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย)

719

โรคไทฟอยด์ (ไข้ไทฟอยด์) หรือ ไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาไทฟี (Salmonella Typhi) เป็นโรคติดต่อที่ได้รับจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายจะเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ลำไส้เล็ก แล้วจึงแพร่เข้าสู่กระแสเลือด และแพร่กระจายไปยังตับ ม้าม ท่อน้ำดี ผิวหนัง

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย แต่ชีพจรจะเต้นช้าในช่วงสัปดาห์แรกๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดเมื่อยตามตัว ในสัปดาห์ที่ 2 จะเกิดอาการม้ามโต อาจมีผื่นขึ้นตามตัว และไข้จะลดลงในสัปดาห์ที่ 3-4 (หากมีอาการไข้ลดลงอย่างเฉียบพลันสันนิฐานได้ว่าเกิดเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ทะลุได้) อาการหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1 เดือน ถึงแม้อาการต่างๆจะหาย แต่อาจยังมีเชื้อของโรคอยู่ในร่างกาย โอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยนั้นคือภาวะแทรกซ้อนที่มักจะเกิดในสัปดาห์ที่ 2-3 เช่น เลือดออกในลำไส้เล็ก ลำไส้ทะลุ ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และภาวะเลือดเป็นพิษ ภาวะเหล่านี้อาจทำให้เสียชีวิตได้นะคะ กรณีที่เกิดอาการท้องผูก ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาถ่ายเพราะยาจะไปกระตุ้นให้เกิดเลือดออกในลำไส้และลำไส้ทะลุเร็วขึ้น ทำให้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้นเลยคะ

ไข้ไทฟอยด์ โรคนี้แพร่กระจายจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไทฟอยด์หรือผู้เป็นพาหะ อาหารที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค คือ อาหารจำพวกน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ เป็นต้น เราสามารถพบเชื้อในหอยที่จับได้ในบริเวณที่เป็นท่อน้ำเสีย ส่วนใหญ่แล้วเชื้อมักติดมาจากมือของผู้ป่วยไปสัมผัสอาหารและน้ำดื่ม แต่สำหรับการติดต่อโดยการสัมผัสแบบคนสู่คนมีโอกาสน้อยมาก นอกจากนี้เชื้อไทฟอยด์สามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ในช่วงตั้งครรภ์ มักเกิดภายใน 3 วันหลังคลอด ซึ่งอันตรายถึงชีวิต โรคไทฟอยด์สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนกระทั่งหายคะ

สำหรับแนวทางรักษาไข้ไทฟอยด์โดยทั่วไปที่ไม่พบโรคแทรกซ้อนนั้น แพทย์จำเป็นต้องตรวงหาร่องรอยของเชื้อในห้องปฏิบัติการหรือจากการเพาะเชื้อจากตัวอย่างของ อุจจาระ หรือปัสสาวะของผู้ป่วย การรักษาก็จะรักษาตามอาการที่เป็น หากท้องเสีย หรือ อาเจียน อาจให้ทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไปและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้ และหากเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนแพทย์จะทำการรักษาตามอาการโรคนั้นๆต่อไปคะ

การป้องกันเบื้องต้นคือต้องคำนึงถึง “ความสะอาด” ควรล้างมือก่อนหยิบจับอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งหรือหลังจากเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และร้อน ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน อย่าให้แมลงไต่ตอมอาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกวิธี กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันและแมลงสาบ และควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่เกิดโรคไทฟอยด์ระบาด นอกจากนี้การเข้ารับวัคซีนโรคไทฟอยด์เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันโรคไทฟอยด์ แต่วัคซีนชนิดนี้มักฉีดให้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น เช่น อาศัยอยู่ในบริเวณโรคระบาด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นพาหะของโรค

สำหรับไข้ไทฟอยด์นั้นมักระบาดในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงระบาดของโรคติดต่อต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำดื่ม หรืออาจจะเกิดในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง ที่ต้องเดินลุยน้ำบ่อยๆ เพราะน้ำอาจเป็นมาจากท่อน้ำเสียหรือถังส้วมที่เออล้น รวมถึงการจัดการจัดการสิ่งปฎิกูลที่ไม่เหมาะสมในช่วงน้ำท่วม โรคก็สามารถแพร่กระจายได้เช่นกันคะ เราควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ สามารถช่วยป้องกันโรคต่างได้เยอนะคะ

“กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด” วิธีง่ายๆที่ช่วยให้ปลอดโรค