ในกรณีที่เครื่องมีปัญหา ไม่ว่าจะขณะจอดหรือวิ่ง เต็มที่ก็เครื่องดับและนิ่งสนิทไปไหนไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญหาเรื่อง เบรครถ ไม่ว่าจะด้วยจากการที่แรงดันในระบบรั่วไหลหรือจะเป็นเบรคจม ที่แรงเสียดทานไม่มากพอที่จะหยุดรถ ยิ่งกับตอนที่รถเคลื่อนที่อยู่ด้วยล่ะก็ ไม่อยากคิดเลยล่ะครับ หลายคนอาจจะเคยได้ยินอาการเบรคจมหรือเฟดกันมาบ้าง แต่พอจะทราบสาเหตุ, การป้องกันและวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของอาการดังกล่าวหรือยัง ถ้ายังล่ะก็ ตาม “นาย T” มาเลยครับ
เบรคจมหรือเบรคเฟด (Brake Fade) คือการสูญเสียประสิทธิภาพในการชะลอความเร็ว ซึ่งเกิดจากความร้อนสะสมในระบบที่สูงมาก อันเนื่องมาจากการใช้เบรคหนักๆ ต่อเนื่องนานๆ (อย่างเช่นตอนลงเขาหรือทางที่ลาดชันมากๆ), ผ้าเบรค-จานเบรคหรือน้ำมันเบรคคุณภาพต่ำ ซึ่งจะทำให้น้ำมันเบรคเดือดง่าย, ผ้าเบรคความฝืดในการสร้างแรงเสียดทานให้กับตัวจานเบรค สรุปก็คือเหยียบจนแป้นเบรคเกือบทะลุ รถก็ยังไม่หยุดไหลนั่นเองครับ แต่นอกจากองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว พฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการเบรคเฟดได้อีกด้วยล่ะครับ
ความร้อนกับระบบเบรค เป็นอะไรที่แยกกันไม่ออก เพราะระบบเบรคนั้นอาศัยความฝืดที่เกิดจากผ้าเบรคกับตัวจาน (หรือดุมในกรณีที่เป็นดรัมเบรค) ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความร้อนสูงๆ ที่เกิดจากการเสียดสีของผ้าเบรคกับตัวจานได้
ตรงนี้ตัวผู้ผลิตเค้าก็ได้เลือกเฟ้นชิ้นส่วนคุณภาพมาให้เราในระดับหนึ่ง สำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว แต่ในกรณีที่เอาไปใช้งานผิดประเภทหรือต้องเจอกับสภาวะที่ต้องเบรคอย่างหนักหน่วง อย่างแปรสภาพไปเป็นรถแข่ง (อันนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง),บรรทุกหนักและลงเขาหรือทางลาดชัน
พฤติกรรมแลกคงทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องหาของแต่งที่คุณภาพสูงกว่ามาเปลี่ยนแทนซะ (ถ้าคิดว่าจะเอาดีทางนี้อ่ะนะ) ส่วนการบรรทุกหนักหรือกับเส้นทางที่ต้องลงทาง ลาดชันยาวๆ นั้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่กันซักหน่อย (ต้องพึ่ง Engine Brake ด้วย) อย่างการบรรทุกหนักเนี่ย เบรคหน้าต้องรับภาระหนักกว่าเดิมอยู่แล้วครับ เพราะเวลาที่เบรคน้ำหนักจะถ่ายเทมายังล้อคู่หน้าเสมอ ยิ่งขับเร็วก็ยิ่งต้องเบรคหนักกว่าปกติ ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เบรคจะต้องรับภาระอันหนักอึ้งตามไปด้วย เพราะฉะนั้นหากต้องบรรทุกหนัก ก็ควรจะใช้ความเร็วพอประมาณ ไม่ใช่ขับระห่ำจนประสิทธิภาพของเบรคเอาไม่อยู่นะครับ กับการขับรถลงเขาหรือทางลาดที่มีระยะทางค่อนข้างยาว แล้วใช้เบรคอย่างเดียวนั้นไม่ถูกนะครับ เพราะนั่นหมายถึงการโยนภาระให้กับระบบเบรคเพียงอย่างเดียว ลองนึกภาพตามนะครับว่าบนถนนที่ลาดชันเนี่ย น้ำหนักมันก็จะถ่ายเทไปที่ล้อคู่หน้ามากกว่าบนพื้นราบอยู่แล้ว ทีนี้เมื่อเราเบรคน้ำหนักก็จะยิ่งถ่ายเทไปยังที่ล้อค
หน้าเยอะตามไปด้วย แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เบรคจมยังไงไหวล่ะครับ ดังนั้นเราจึงควรที่จะใช้ตัวช่วยอย่าง Engine Brake ร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นเกียร์ธรรมดาก็ง่ายหน่อย เพราะสามารถเปลี่ยนไปใช้เกียร์ 1, 2 หรือ 3 ได้ทันที (ต้องพิจารณาจากความเร็วกับรอบเครื่องเป็นสำคัญ)
ส่วนเกียร์อัตโนมัตินั้นก็ต้องย้ายตำแหน่งคันเกียร์ไปอยู่ที่ L (Low), 1 หรือ 2 แทน และที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือแวะพักเป็นระยะๆ เพื่อให้ชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบเบรคได้คลายความ ร้อนที่สะสมบ้างนั่นเองครับ แต่หากต้องเผชิญกับการใช้งานดังกล่าวบ่อยๆ “นาย T” ว่าควรจะอัพเกรดชิ้นส่วนต่างๆ ควบคู่ไปด้วยเลยก็ดีครับ อย่างผ้าเบรคทนอุณหภูมิสูงกับน้ำมันเบรค DOT 4 หรือ 5 ก็พอที่จะช่วยป้องกันอาการเบรคจมได้เช่นกันครับ และที่สำคัญคือปรับพฤติกรรมการชะลอและลดความเร็วซักนิดก็ดีครับ เพราะเบรคมีไว้เพื่อลดความเร็วเมื่อต้องการจะหยุดรถ ไม่ใช่ลงทางลาดแล้วหวังพึ่งแต่เบรคอย่างเดียวก็ไม่ได้นะครับ
“นาย T” เคยคุยกับคนขับรถตู้ (รับจ้าง) ซึ่งเคยพาลูกค้าไปทัวร์ภาคเหนือ ซึ่งต้องบรรทุกผู้โดยสารเต็มคันขึ้น-ลงดอยที่ระยะทางก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ตอนขึ้นนะไม่เท่าไหร่ เพราะเครื่องยนต์มีกำลังพอ แต่ตอนลงนี่ซิ พี่เค้าเล่นให้ฟังแบบหวาดเสียวว่าบางจังหวะมีอาการเบรคเกือบไม่อยู่ด้วย ดีที่พี่เค้ายังจอดพักให้ผ้าเบรค, จานเบรคกับน้ำมันเบรคได้คลายความร้อนบ้าง ฟังแล้วหวั่นๆ แทนผู้โดยสารเลยอ่ะครับ ก็อย่างที่ “นาย T” บอกนั่นแหละครับ ว่าถ้าเครื่องมีปัญหา เต็มที่ก็จอด แต่ถ้าเบรคมีปัญหาแล้วจะไปเอาอะไรมาลดความเร็วล่ะครับ